สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยผลวิจัยหาชมยาก ปรากฏการณ์หนึ่งในล้าน ดาวแคระขาวกลืนดาวเคราะห์บริวาร ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ หอดูดาวแห่งชาติของไทย
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากทีมวิจัยของนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวอร์ริค สหราชอาณาจักร นำโดย ดร.บอริส แกนซิเก และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาวิทยาลัยเลสเตอร์ และสถาบันดาราศาสตร์แห่งสเปน ร่วมกับทีมนักดาราศาสตร์ไทย ผศ.ดร. อมรรัตน์ อังเวโรจน์วิทย์ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์ศิรินภา อาจโยธา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายสมสวัสดิ์ รัตนสูรย์ เจ้าหน้าที่เทคนิคดาราศาสตร์ จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์สะท้อนแสง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา และกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร ของมหาวิทยาลัยวอร์ริค ณ เกาะลาพัลมา ประเทศสเปน ร่วมกันศึกษาติดตามดาวเคราะห์บริวารถูกแรงโน้มถ่วงสลายมวล เมื่อเข้าใกล้ดาวแม่ซึ่งเป็น ดาวแคระขาว มีชื่อว่า ดาว WD 1145+017หลังจากพบว่าดาวดังกล่าวมีความสว่างผิดปกติเมื่อเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา
ทีมวิจัยจึงเริ่มศึกษาโดยละเอียด ก่อนจะพบว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการกลืนดาวเคราะห์บริวารของดาวแคระขาว ซึ่งการดูดกลืนดาวบริวารของดาวแคระขาวกระทำโดยใช้แรงโน้มถ่วงที่มีมหาศาลดูดดาวบริวารให้เข้ามาในระยะใกล้ จากนั้นด้วยพลังของแรงโน้มถ่วง จะฉีกมวลของดาวเคราะห์จนแตกเป็นกลุ่มก๊าซและเศษมวลของดาวเคราะห์ ให้กระจายอยู่ในวงโคจรแผ่นวงแหวนรอบดาวแคระขาว จนดาวเคราะห์บริวาลจะแตกสลายไปในที่สุด
และจากเหตุการณ์นี้นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก เนื่องจากปกติแล้วนักดาราศาสตร์จะศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้ต้องใช้เวลานับสิบปี แต่ ดาวแคระขาว ดูดกลืนมวลของ ดาวเคราะห์ บริวารนี้เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น นับเป็นครั้งแรกที่มนุษย์ได้เห็นจุดจบของดาวเคราะห์แบบวันต่อวัน ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของประเทศไทย
ทั้งนี้จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการตอกย้ำความสำเร็จในฐานะศูนย์กลางดาราศาสตร์อาเซียนของไทย และเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เข้าใจระบบวิวัฒนาการของดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ได้มากยิ่งขึ้นจากการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์นี้
ติดตามข่าวสารอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ news.mthai.com
MThai News