โวยหนัก! หนุ่มอ้างเป็นข้าราชการ จอดรถขวางหน้าสำนักงานคืนลอยกระทง บอกให้ถอยไม่ยอม แถมด่ากลับอีก
วันนี้(23 พ.ย.) โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพจากผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก “ขวัญชัย ทะนันท์” เผยให้เห็นรถเก๋งคันหนึ่งจอดขวางทางเข้าออกในคืนลอยกระทง พร้อมข้อความบอกเล่า ระบุว่า
ที่สำนักงานประกันส้งคม เหตุการณ์เกิด 18.30 น. พี่เขามาจอดรถขวางหน้าประตู จะไปลอยกระทง เราก็บอกว่ามันขวางจอดไม่ได้ เขาบอกว่าเขาเป็นข้าราชการ มีปัญหาอะไรไหม เจ้าหน้าที่สำนักงานเข้ามาบอก หนูจะออกแล้ว ไปจอดที่หนูก็ได้ ก็ไม่ไปครับคือกูใหญ่อ่ะ
แจก_ให้พวกผมด้วย คือถ้าเป็นข้าราชการจริง คุณจะจอดรถขวางหน้าบ้านใคร หรือสำนักงานไหนก็ได้เหรอ ใหญ่ขนาดนั้นเชียว ต้องเกิดในสังคมแบบไหน ถึงคิดได้แค่นี้ ขับรถเป็นล้าน ทำตัวบาทเดียว แชร์ให้เจ้ารถเห็นครับ
หลังจากที่ภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ บรรดาชาวเน็ตต่างเข้ามาแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์เจ้าของรถคันนี้ โดยส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจกับการกระทำดังกล่าว พร้อมกับเสนอวิธีการแก้เผ็ดเอาคืนเพื่อจะได้ไม่ไปก่อเหตุซ้ำอีก อาทิ แจ้งเอารถมายกออก, เอาขวานมาจามให้พังไปเลย, ใช้ตะปูเติมแต่งสีสันให้รถ, หาอะไรมาขวางให้ออกไม่ได้ รวมไปถึงปล่อยลมยางรถทั้งสี่ล้อออกให้หมด เป็นต้น
สำหรับการจอดรถขวางทางเข้าออกนั้นถือว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม และทางกฎหมายระบุว่ามีความผิดชัดเจน โดยเฉพาะการจอดรถขวางหน้าบ้านของคนอื่น
ซึ่งข้อกฎหมาย กรณีรถจอดขวางหน้าบ้าน ปิดทางเข้าออก และกีดขวางการจราจร มี 4 กรณีด้วยกัน คือ
1. จอดรถขวางทางเข้าออกหน้าบ้าน ซึ่งการจอดรถขวางประตูทางเข้าออกบ้านผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นที่ส่วนบุคคล หรือที่สาธารณะถือเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญใจให้กับผู้อื่น มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 397 โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท รวมทั้งสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งได้ ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีความโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่ง ยกรถได้
ทั้งนี้ หากความเสียหายหรือทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ประชาชนมีสิทธิแจ้งความร้องทุกข์ด้วย แต่เนื่องจากขั้นตอนการฟ้องร้องเยียวยาทางกฎหมายยาวนาน จึงไม่ค่อยมีคนฟ้องร้อง ความมักง่ายลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นบ่อย
2. ไม่ได้จอดรถขวางหน้าบ้าน แต่จอดด้านข้างกำแพง สลับฟันปลา หรือทำให้ผู้อื่นสัญจรไม่สะดวก
ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ และเป็นพื้นที่ห้ามจอด ผิดกฎหมายจราจรทางบก ถ้าไม่ได้เป็นพื้นที่ห้ามจอด แต่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เจ้าทุกข์สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทั้งแพ่งและอาญา
3. ถ้าบ้านอยู่ก่อนมีตลาด แหล่งการค้า และทำให้ประชาชนเดือดร้อน จากการจอดกีดขวาง
ถ้าเป็นโครงการของรัฐ ถือว่ารัฐริดรอนสิทธิ์ประชาชน แต่ถ้าเป็นเอกชน อาจเข้าข่ายว่าเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย การบังคับใช้กฎหมายจะเทียบกับกรณีของรัฐไม่ได้ ต้องพิจารณากันเป็นรายกรณีไป ศาลอาจขอให้เลิกกิจการ หรือเยียวยาความเสียหาย
และ 4 การนำกรวยและเก้าอี้ไปตั้งขวางพื้นที่ไม่ให้ใครมาสร้างความเดือดเนื้อร้อนใจ หากเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลสามารถทำได้ แต่หากเป็นที่สาธารณะ เช่น ถนน ไม่สามารถทำได้ เพราะจะขัด พ.ร.บ.รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ที่มา ขวัญชัย ทะนันท์